sadads

หมวดที่ 1

ความทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมสานสัมพันธ์


ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม

มีความหมายว่า “การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม
มีลักษณะ “เป็นรูปคนประสานมือกัน เคลื่อนไหวเป็นวงกลม”
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า SAN SUM PAN ASSOCIATION OF THAILAND


ข้อ 3. สำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ ณ โรงพยาบาลสวนปรุง (สำนักงานสานสัมพันธ์) เลขที่ 131
ถนนช่างหล่อ ตำบลหายยาอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50100
โทรศัพท์ 053- 908500 ต่อ 60188

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม
4.1เพื่อส่งเสริม และรณรงค์ให้ครอบครัว สังคม ยอมรับและมีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อผู้ที่อยู่กับปัญหา
สุขภาพจิต
4.2เป็นศูนย์ประสานงานการดูแล ส่งเสริมอาชีพคนพิการและผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต
4.3สนับสนุนและให้ความร่วมมือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวิจัย
4.4 ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการในการเมือง
4.5 ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด

หมวดที่ 2

สมาชิก

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคม มี 2 ประเภท คือ
5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ เครือข่ายชมรมจิตเวช 17 จังหวัดภาคเหนือ และบุคคลที่สนใจเข้าร่วมเป็น
สมาชิก
5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือคณะกรรมการของสมาคม


ข้อ 6. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (แล้วแต่กรณี)
6.1 เป็นประธานชมรมหรือตัวแทนเครือข่ายชมรมจิตเวช
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้
ความสามารถหรือต้องโทษจำคุก ยกเว้น ความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาล
ถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของ
สมาคมเท่านั้น

ข้อ 7. คำลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
ไม่มี
ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตาม
แบบฟอร์มของสมาคม ณ สำนักงานสมาคมสานสัมพันธ์ ให้เลขานุการเป็นผู้รวบรวมแจ้งให้นายทะเบียน
และคณะกรรมการทราบ


ข้อ 9. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลต่อไปนี้
9.1 ตาย
9.2 ลาออก โดยการแจ้งด้วยวาจาในที่ประชุมหรือยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ
และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ
9.3 ขาดคุณสมบัติของสมาชิก เนื่องจากติดต่อไม่ได้และไม่ร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 1 ปี
9.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน
เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม


ข้อ 10. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
10.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมเท่าเทียมกัน
10.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
10.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ชมรม ได้จัดให้มีขึ้น
10.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
10.5 สมาชิกมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ
สมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
10.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
10.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัด
ประชุมใหญ่วิสามัญได้
10.8 มีหน้าที่จะต้องตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
10.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
10.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
10.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
10.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นผู้ที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 3

การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 11. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวน 9-12 คน คณะกรรมการนี้ได้มา
จากการเลือกตั้งที่ประชุม ของสมาคมและให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมเลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน
และอุปนายก 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่
ประชุมเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและ
หน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
11.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมใน
การติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
คณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
11.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคมปฏิบัติ
หน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม
เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทน
นายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
11.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่
สมาคมตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆของสมาคม
11.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ-
รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของ
สมาคมไว้เพื่อการตรวจสอบ
11.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัด
จัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม
11.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิก
ในการเรียกเก็บค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
11.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก
และบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
11.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดย
มีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่
ข้อบังคับได้กำหนดเอาไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็น
กรรมการกลาง


ข้อ 12. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่ง
ครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็
ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับ
อนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทาง
ราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบกัน ระหว่างกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุด
ใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจาก
ทางราชการ


ข้อ 13. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิก
สามัญคนใดคนหนึ่ง ที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทน
อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ทดแทนเท่านั้น

ข้อ 14. กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่การออกตามวาระก็ด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ
14.1 ตาย
14.2 ลาออก
14.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
14.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง


ข้อ 15. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือแจ้งด้วย
วาจาในที่ประชุมต่อคณะกรรมการมีมติให้ออก


ข้อ 16. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
16.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้อง
ไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
16.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
16.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรือคณะทำงานได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรือคณะทำงานจะ
สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
16.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญ
16.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับฉบับนี้
16.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆตามที่
ข้อบังคับได้กำหนดไว้
16.7 มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
16.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญ จำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด
เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น
ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
16.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
16.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆของสมาคมเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับ
ทราบ
16.11 มีหน้าที่อื่นๆตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้


ข้อ 17. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันปีละ 2 ครั้ง หรือเมื่อสมาชิกมีการร้องขอ


ข้อ 18. การประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึง
จะถือว่าครบองประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นๆก็ให้ถือ
คะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด


ข้อ 19. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำ
หน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4

การประชุมใหญ่

ข้อ 20. การประชุมใหญ่ ของสมาคม มี 2 ชนิด คือ
20.1 ประชุมใหญ่สามัญ
20.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ


ข้อ 21. คณะกรรมการกำหนดให้มีการจัดประชุมใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง


ข้อ 22. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วย
การเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้
จัดให้มีขึ้น

ข้อ 23. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและ
การแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้
สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของ
สมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดวันประชุมใหญ่


ข้อ 24. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
24.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
24.2 แถลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกทราบ
24.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบวาระที่กำหนด
24.4 เลือกผู้ตรวจสอบบัญชี
24.5 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)


ข้อ 25. ในการประชุมสามัญประจำปี หรือมีการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่
น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุม
ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบ
กำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้เลื่อนการ
ประชุมคราวนั้นไปและให้มีการจัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้ง
แรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม


ข้อ 26. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด


ข้อ 27. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่
เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5

การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 28. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และเปิดบัญชีชื่อ สมาคมสาน
สัมพันธ์ ไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาทิพย์เนตร ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ข้อ 29. การเบิกจ่ายเงินจะต้องมีลายมือชื่อกรรมการของสมาคมจำนวน 3 คน คือนายกสมาคม เหรัญญิก
เลขานุการ และการเบิกจ่ายเงินต้องระบุจำนวน 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่ลงชื่อเปิดบัญชีไว้ และ 1 ใน 2
นั้น เป็นนายกสมาคม


ข้อ 30. การใช้จ่ายเงินของสมาคมให้มีการประชุมชี้แจงและแจ้งให้กรรมการรับทราบและอนุมัติก่อนทุกครั้ง


ข้อ 31. ให้เหรัญญิกนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่มีโอกาสอำนวยให้


ข้อ 32. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายและบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงิน
ทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก
หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง


ข้อ 33. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช้กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับ
อนุญาต


ข้อ 34. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถ
จะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้


ข้อ 35. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขบังคับและการเลิกชมรมฯ

ข้อ 36. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการเท่านั้น และจะต้องมี
คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด มติของที่ประชุม
คณะกรรมการในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ
คณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด


ข้อ 37. การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย
มติที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้า
ประชุมทั้งหมดและองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด


ข้อ 38. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ หลังจากที่ได้ชำระ
บัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของ มูลนิธิแก้ว – อรุณ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ
(ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์)

หมวดที่ 7

บทเฉพาะกาล

ข้อ 39. ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็น
ต้นไป

ข้อ 40. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็น
สมาชิกสามัญและสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเป็นต้นไป

ลงชื่อ พันเอก........................................ผู้จัดทำข้อบังคับ

( จรัส ลิ่มอรุณ )

นายกสมาคมสานสัมพันธ์

Copyright © 2013 San Sum Pan All rights reserved www.sansumpan.com Powered by CMNice Solutions.